เครือเวอร์จิ้นสร้างรางทดสอบ Hyperloop One ระบบขนส่งแรงดันอากาศความเร็วสูงในอินเดีย เส้นทางระหว่างนครมุมไบ ไปยังเมืองปูเน่ ระยะทาง 158 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 25 นาที
ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งเครือเวอร์จิ้น จับมือกับกระทรวงคมนาคมของอินเดียสร้างรางทดสอบ Hyperloop One ระบบขนส่งแรงดันอากาศความเร็วสูง ให้บริการระหว่างท่าอากาศยานมุมไบ นครมุมไบ และเมืองปูเน่ เมืองหลักสำคัญของอินเดีย มีประชาชนเดินทางไปมาระหว่างสองเมืองนี้ถึง 25 ล้านคนต่อปี
เครือเวอร์จิ้นจะนำเทคโนโลยีของ Hyperloop One มาให้บริการในเส้นทางทดสอบนี้ แต่ยังไม่มีกำหนดว่าจะสร้างเสร็จและพร้อมใช้งานได้เมื่อไร
Hyperloop One เป็นระบบขนส่งแบบแรงดันอากาศขับเคลื่อนขบวนรถไปตามท่อ สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ให้บริการในปัจจุบัน ทฤษฎีการขับเคลื่อนรถไฟด้วยแรงดันอากาศ หรือไฮเปอร์ลูป ได้รับการเผยแพร่โดยอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์เทสลา และซีอีโอสเปซเอ็กซ์ ก่อนที่เทคโนโลยีจะถูก Hyperloop One บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยทีมงานของมัสก์ และริชาร์ด แบรนสัน จะนำทฤษฎีนี้มาทดสอบ และสร้างรางสำหรับให้บริการจริง โดยบริษัทเริ่มสร้างรางทดสอบแล้วในสหรัฐฯ
ปัจจุบัน Hyperloop One เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Virgin Hyperloop One หลังจากเครื่อเวอร์จิ้นเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม
ตามหลักทฤษฎี รถไฟไฮเปอร์ลูปสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูงสุด 1,080 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบกับความเร็วของเครื่องบินโดยสาร
คลิปวีดีโอแผนงานสร้าง Hyperloop One ในอินเดีย
ที่มา: Virgin Hyperloop One
Commentaires